วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

BBS (Behavior Based Safety) การ์ด..การพยากรณ์ความปลอดภัย และยุทธวิธีสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร

กฤษณ เคลือบสุวรรณ
BBS (Behavior Based Safety) การ์ด..การพยากรณ์ความปลอดภัย และยุทธวิธีสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร
    อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าผมชวนพนักงานเล่นไพ่พยากรณ์นะ Safety ไม่ชอบเล่นการพนันหรอก คือมันมีความหมายดังนี้
Behavior = พฤติกรรม
Based = พื้นฐาน
Safety = ความปลอดภัย
แปลตามตัวแบบรวมๆจะได้ พฤติกรรมที่เป็นพื้นฐานความปลอดภัย   ซึ่งระบบนี้เป็นที่นิยมในหลายๆสถานประกอบการ ไม่ว่าจะในบ้านเราหรือต่างประเทศ เป็นวิธีที่นิยมและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้ ได้รับบาดเจ็บในสถานที่ทำงาน อันเนื่องมาจากแนวคิดที่ว่า “อุบัติเหตุ”นั้น เกิดจาก “พฤติกรรมเสี่ยง” ของผู้ที่ปฏิบัติงาน ดังนั้น การนำระบบBBSคือการใช้หลักจิตวิทยามาใช้เป็นกลวิธีที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความปลอดภัยด้วยการดูแลเอาใจใส่เฉกเช่นเดียวกับ “เพื่อนเตือนเพื่อน”  หรือ ระบบ “บัดดี้” เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กรนั่นเอง
แต่โดยทั่วไป พฤติกรรมความปลอดภัย (Behavior Base Safety: BBS) นั้น หมายถึง การปลูกฝังพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน โดยใช้การจูงใจในเชิงบวก (Positive Approach) ซึ่งมีขั้นตอน 4 ขั้นตอนหลัก ( DO IT) ดังนี้
ขั้นที่ 1 ชี้บ่งพฤติกรรมเป้าหมาย (Defining Safe and At-Risk Behavior: D) กำหนดพฤติกรรมที่ปลอดภัย และพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญในพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยพิจารณาตามหลักในการชี้บ่งพฤติกรรม SOON Concepts โดยพฤติกรรมที่นำมาปฏิบัติจะต้องเป็นไปดังนี้
S = Specific: จำเพาะเจาะจง ไม่กำกวม
O = Observable: สังเกตได้ วัดได้ บันทึกได้
O = Objective: ไม่ต้องตีความ อะไร ทำไม
N = Naturalistic: กิจกรรมที่ทำงานเป็นปกติในแต่ละวัน
ขั้นที่ 2 การสังเกตพฤติกรรม (Observations: O)
ขั้นที่ 3 การปรับเปลี่ยน พฤติกรรม (Intervention: I) การใช้หลักการการจูงใจเชิงบวกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายใน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมภายนอกที่ต้องการโดยอาศัยตัวกระตุ้นให้นำไปผลที่ได้
ขั้นที่ 4 การทดสอบผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Testing an Intervention: T)เป็นการสังเกตพฤติกรรมที่กำหนดไว้ในขั้นตอนที่ 1 โดยวัดผลเปอร์เซ็นต์ของพฤติกรรมความปลอดภัย (% Self-Behavior)
รูปแบบของ BBS อาจไม่ได้ตายตัวแบบเดียวเสมอไป ในบางบริษัท อาจอยู่ในรูปแบบของ Stop work authority บางบริษัทอยู่ในรูปแบบ Take5 ในขณะที่บางบริษัทอาจจะอยู่ในรูปแบบของ Buddy remind หรือ Safety buddy ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการกระทำใน 2 ลักษณะ ดังนี้
ลักษณะที่  1 เป็นลักษณะที่พนักงานของหน่วยงานหนึ่งเตือนพนักงานอีกหน่วยงานหนึ่ง หรือ บริษัทหนึ่งเตือนพนักงานของพนักงานอีกบริษัทหนึ่ง (กรณีหลายบริษัท ทำงานร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน เช่น งานก่อสร้าง)  เช่น นาย A ไปพบพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยของ นาย B ซึ่งอยู่คนละหน่วยงาน นายA จึงเข้าไปเตือนนาย B และทำการจดบันทึกลงใน BBS การ์ด ซึ่งนาย B ก็ยอมรับการเตือนของนาย A  หลังจากนั้น นาย A ก็ส่ง BBS การ์ดนี้ไปที่ต้นสังกัดของนาย B ทางต้นสังกัดก็ตรวจสอบไปทางนาย B ว่าเป็นความจริงหรือไม่ เป็นอันว่าจบกระบวนการ
ลักษณะที่ 2 เป็นลักษณะที่พนักงานหน่วยงานเดียวกันเตือน ส่วนใหญ่จะใช้ระบบบัดดี้เข้ามาช่วย เนื่องจากเป็นเพื่อนร่วมงานที่อยู่ใกล้กันมากที่สุด
ทั้งสองลักษณะมักใช้ในสถานประกอบการพัฒนาในเรื่องความปลอดภัยแล้ว เพราะในหลายสถานประกอบการที่ผู้บริหารและพนักงานที่ยังไม่ค่อยเข้าใจหรือยังไม่ได้รับ การพัฒนาความคิดในเรื่องความปลอดภัยอาจมองว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมจับผิดระหว่าง เพื่อนร่วมงานด้วยกัน  ดีไม่ดี นาย A อาจโดนนาย B เตะปากเอาได้ง่ายๆ บางบริษัทที่ผู้บริหารมีแนวคิดอยากจะริเริ่มกิจกรรมนี้ ก็เมตตาพนักงาน กลัวว่าพนักงานจะไปทะเลาะกันเสียเปล่าๆ ก็เลยพยายามทำให้เกิดพฤติกรรมกลับกัน คือแทนที่คนเตือนจะเขียนรายงาน ก็ให้คนถูกเตือนเขียนรายงานซะเลย โดยอาจกำหนดรูปแบบให้หัวหน้าเป็นคนเก็บรวบรวมรายงานจากพนักงานในหน่วยตนเอง โดยการสอบถามว่าวันนี้มีรายงานหรือไม่ (คือขอร้องแกมบังคับให้พนักงานร่วมมือ) แล้วก็มีการส่งรายงานไปยังหน่วยงานตนเอง ไปจนถึงการประกวด พนักงานที่เขียนรายงานได้รับรางวัล ซึ่งจากประสบการณ์ผมเอง มันก็เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมแรงในการสร้างระบบวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กรโดยรวม แรกๆอาจจะขอร้องแกมบังคับ เอารางวัลมาช่วยในช่วงแรกๆ หลังๆอาจจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ

ประมาณช่วงต้นปี2553ผมได้รับคำสั่งจากผู้จัดการความปลอดภัยให้ไปดูแลงานความ ปลอดภัยในโครงการขยาย ส่วนต่อของเหมืองทองคำและทองแดงที่เมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พอไปถึงปุ๊บก็ได้รับอีเมล์จากผู้จัดการเลย แกก็สั่งนักสั่งหนาเลยทีเดียวว่า ระบบรายงาน Take 5 (ต้นแบบมาจากบริษัทแม่ที่ออสเตรเลีย แกเพิ่งรับนโยบายมา) ขอให้รายงานทุกเดือนนะ ทำยังไงก็ได้ให้พนักงานให้ความร่วมมือให้ได้มากที่สุด
ทีนี้ก็คิดสิ คิดไปคิดมา ถ้าจะรอทำเดือนละครั้งคงไม่ได้ตามเป้าหมายเป็นแน่แท้ พนักงานที่นั่นมี ร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่ก็ใช่ว่า เขาจะเอาด้วย จะเริ่มต้นจริงๆ ต้องเอาแบบรายสัปดาห์ไปเลย ก็ประกาศตอน Tool box talk (ที่นั่นจะมี Pre-start talk ทุกวันตอนเช้าและ Tool box Talk ทุกบ่ายวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์) ขอสัปดาห์แรกของการทำงานเลย ได้เรื่องเลยครับ สัปดาห์แรกส่ง 2 ใบ คือสองใบจริงๆจากพนักงานทั้งหมด เอาละสิ ที่นี้ ทั้งยืนคิด นั่งคิด กระทั่งนอนเอาเท้าก่ายหน้าผากคิด (อันหลังนี่ล้อเล่น.. ไม่ได้เรียนโยคะมา ทำไม่ได้หรอก)คือเอาเข้าจริงๆมันก็เป็นความท้าทายที่จป.แต่ละคนต้องเฟ้นหายุทธวิธี ที่จะทำให้ได้ ยิ่งถ้าในบางโครงการมี จป. หรือ Safety หนึ่งคนต่อหนึ่งโครงการเนี่ย เรียกว่าแทบจะทำงานแบบหัวเดียวกระเทียมลีบจริงๆ แถมตอนนั้นเพิ่งตั้งโครงการใหม่ๆ คณะกรรมการความปลอดภัยในหน่วยงานก็ยังไม่ได้ตั้ง ดูทุกอย่างมันเลวร้ายไปเสียหมด
ช่วงที่คิดก็เดินไปร้านขายของชำในแคมป์ที่พักของเหมืองที่มีขายทุกอย่าง ที่สำคัญรับเงินไทยด้วย(คือเจ้าของร้านจะได้เอาไปซื้อของฝั่งไทยได้สะดวกขึ้นแล้วเอา สินค้ามาขายชาร์จคนซื้ออีกที..รวยน่าดู) แลเห็นถั่วกระป๋อง สนนราคากระป๋องละ 10,000 กีบ หรือ ประมาณ 40 บาทไทย ไอเดียก็บรรเจิดทันที
ผมกำลังจะทำอะไรเหรอ?  การทำระบบ BBS ในระดับพนักงาน ผมว่าตอนช่วงเริ่มต้นเนี่ยมันสำคัญมาก ยิ่งถ้าองค์กรยังไม่รู้ที่มาที่ไปของระบบนี้ จะทำได้ยากมาก นอกเหนือไปจากการให้ความรู้และประกาศใช้แล้ว การทำให้ตอนจบของกระบวนการก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่การจะเริ่มต้น มันควรจะประกอบไปด้วยสองส่วนที่ต้องทำงานด้วยกันก็คือ คุณภาพ (Quality) และ ปริมาณ (Quantity)
ในช่วงสัปดาห์ที่สองที่มีคนเริ่มส่งมา4-8 ใบ ซึ่ง 5 ใน 8 ใบนั้นเป็นคนๆเดียวกันถึง 2 คน พอถึงช่วงที่ต้องมี Tool box Talk ของสัปดาห์ที่สาม ก็จัดช่วงมอบรางวัลเลยครับ รางวัลที่1สำหรับคนที่ส่งTake5มากที่สุด(3ใบ)เรียนเชิญผู้จัดการโครงการมาแจกรางวัล เลย รางวัลเป็นถั่วกระป๋องพร้อมเงินสดอีกสองหมื่นกีบที่ฝากระป๋อง รางวัลที่สอง รับถั่วกระป๋องเช่นกันแต่ได้เงินเพียงหมื่นกีบ
เชื่อไหมครับ ก่อนประกาศรางวัลในสัปดาห์ที่สี่ จาก 8 ใบ พุ่งพรวดขึ้นมาถึง85 ใน จากพนักงานจำนวน 125 คนทันที และ สัปดาห์ต่อมาผมได้รับBBS การ์ด ถึง 180 ใบ ส่งรายงานด้วยความสบายใจ เบ็ดเสร็จผมใช้เงินไปประมาณสัปดาห์ละ 200 บาท (เงินส่วนตัว) จนกระทั่งจัดคณะกรรมการความปลอดภัยประจำหน่วยงานเสร็จ จัดประชุมวันแรก มีคำถามในห้องประชุมทันทีว่า คุณใช้งบอะไรในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ (เข้าทางSafetyรอคำถามนี้มานานแล้ว)ผมก็บอกไปตามตรงแล้วก็ตามด้วยการอ้อน อีกนิดหน่อยว่า"เมื่อทุกคนรู้แล้วว่าเงินที่ทำกิจกรรมนี้มาจากไหนครั้งหน้าจะมีท่านใดเมตตา ผมไหมครับ "ทุกคนเงียบหมดผมเลยหันไปถามผู้จัดการโครงการแกเป็นเจ้านายฝรั่ง นิวซีแลนด์ที่ค่อนข้างใจดีมากคนหนึ่งที่ผมเคยมี ตอบแบบไม่ลังเลว่ายูเพิ่มรางวัลให้ พนักงานเราได้ไหม คิดมาเลยว่าต้องใช้ต่อเดือนเท่าไหร่ เดี๋ยวไอจะจัดการให้..อ้าว อย่างงี้ ก็เสร็จ Safety สิครับ ฮ่าๆๆ
ก็อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ว่า สองอย่างที่ต้องทำควบคู่กันตอนทำกิจกรรม BBS ก็คือ คุณภาพ (Quality) และ ปริมาณ (Quantity)  ตอนนี้ผมได้ปริมาณแล้ว ยังเหลือคุณภาพ เพราะตั้งใจจะให้กิจกรรมนี้ช่วยเปลี่ยนแนวคิดพนักงานให้มองให้เป็นว่า อะไรคือความเสี่ยงและสามารถนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ ผมก็จัดรางวัลใหญ่กว่าเดิมขึ้นมาเลย เริ่มคัดกรองคุณภาพด้วยการให้ผ่านการคัดเลือก จากคณะกรรมการความปลอดภัยหน่วยงานแต่ก็ยังมอบรางวัลให้กับผู้ที่เขียนมามากที่สุด เพื่อรักษาระดับการมีส่วนร่วมไว้.. แต่เอ๊ะ มอบรางวัลทุกสัปดาห์ แต่ประชุมเดือนละครั้ง มันจะไม่สอดคล้องกัน อย่ากระนั้นเลย ประชุมมันทุกสัปดาห์เลยแล้วกัน ควบรวมกับการประชุมแผนงานประจำสัปดาห์ไปเลย
เจ้านายเห็นด้วยอีก คนอะไรชื่อเหมือนผู้กำกับหนังฮอลีวูด(แกชื่อสตีเว่นส์) แล้วยังใจดีกับ Safety อีกจัดไปครับกิจกรรมนี้ก็เลยวินวินและก็สร้างความสนุกสนาน ให้กับพนักงานค่อนข้างมากเพราะทุกคนที่ขึ้นมารับรางวัลต้องมาอ่านให้เพื่อนฟังด้วยสนุก สนานกันไปจนกระทั่งจบโครงการ
พอช่วงปี 2554 และช่วงปี 2556-2558 คราวนี้ไปไกลกว่าเดิม นานาชาติกว่าเดิม นู่นเลย ภาคอีสานของสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ คือบริษัทผมได้ร่วมงานกับบริษัทน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งมีฐานปฏิบัติงานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติอยู่ที่นั่น ท่ามกลางไร่ชาเขียวที่อยู่ล้อมรอบ  Safety ที่นั่น มีทั้งคนไทย อเมริกัน อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และบังกลาเทศ
ที่นั่นก็มีระบบ BBS ครับ แต่อยู่ในรูปแบบของ Stop work authority แต่วิธีการทำก็คล้ายๆกัน เพียงแต่ เค้าทำกันเป็นรายวันครับ คือมีการประชุมความปลอดภัยกับบริษัทที่ว่านี้ทุกวัน  ตัวผมเองซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยก็ต้องเป็นตัวแทนบริษัทเข้าร่วมประชุมทุกวัน ก่อนเข้าประชุมสัก 2 ชั่วโมง ทุกบริษัทจะต้องส่งใบ Stop work ทุกวัน อย่างน้อยต้องได้ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของพนักงาน ของบริษัทนั้นๆ แล้วก็มีการคัดเลือกโดยเอาสุดยอดของแต่ละบริษัทมาประชันกัน วันคุณภาพความคิดด้านความปลอดภัยกันไปเลย บริษัทไหนที่พนักงานเขียนมาได้ดีที่สุดจะถูกโหวดโดย Safety ตัวแทนของแต่ละบริษัทช่วยกันให้คะแนน เช้ามาตอนทำ Safety talk ก็มอบรางวัลให้ โดยทางบริษัทเจ้าของงานจะให้เสื้อยืดสัญลักษณ์บริษัทของเขา ส่วนเราก็มอบรางวัลเล็กน้อย เช่น เงิน 500 ตากา (ประมาณ 250 บาท อันนี้เจ้านายผมก็จ่าย แต่รอบนี้ เจ้านายผมเป็นออสเตรเลีย) พนักงานก็จะออกมาอ่านให้ฟัง วิธีนี้ก็ยังทำกันมาเรื่อยๆ เพราะเมื่อปี 2556-2558 ที่ผมไปร่วมงานรอบที่สอง ก็ยังรักษาระบบนี้ไว้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว
สิ่งที่เป็นการต่อยอดของกิจกรรมนี้ก็คือ การพยากรณ์อุบัติเหตุที่แม่นยำ เพราะการที่พนักงานส่งรายงานเข้ามาเป็นรายวัน วันหนึ่งๆก็มีหลายฉบับ เฉพาะบริษัทผมก็เป็นร้อยแล้ว (พนักงานชาวไทย 60-80 คน ชาวบังกลาเทศอีก  100-120คนออสเตรเลีย3คน)แน่นอนว่าหลายๆเรื่องในจำนวนนั้นต้องมีเรื่องที่ซ้ำกันหรือมี ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แน่นอนว่า ดังนั้น เมื่อมีรายงาน BBS เรื่องที่คล้ายๆกัน เข้ามาในช่วงเวลาหนึ่งเป็นจำนวนความถี่ค่อนข้างมาก ในที่ประชุม Safety นานาชาติ จะเริ่มยกประเด็นเหล่านี้ขึ้น ก่อนที่จะสรุปโดยให้ทุกบริษัทไปหาวิธีลดความเสี่ยงที่ว่านี้ ก่อนที่จะเกิดเรื่องอุบัติเหตุขึ้น     

สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมาก็คือ โครงการแรกที่ผมไปร่วมงานเกือบปี ไม่เกิดอุบัติเหตุเลือดตกยางออกเลยตลอดโครงการ และโครงการที่สองที่ใช้เวลาทำงานเกือบสองปีก็ไม่เกิดเคสเลือดตกยางออกแม้กระทั่งมีดบาดมือ เพราะเมื่อมีการพยากรณ์เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ที่เหลือก็คือการควบคุมและตัดสิ่งที่เป็นความเสี่ยงออก
   ง่ายไหมครับ..วันนี้..คุณเขียนรายงาน BBS แล้วรึยัง.

1 ความคิดเห็น: